สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก

          สัตว์เลื้อยคลาน (Reptile) สัตว์มีกระดูกสันหลังประเภทหนึ่ง ถูกจัดจำแนกออกแบบอับดับใหญ่ๆทั้งหมด 4 อันดับได้แก่ สัตว์เลื้อยคลานประเภทกิ้งก่าหรือลิซาร์ดและงู (Squamata), สัตว์เลื้อยคลานประเภทเต่า (Testudines), สัตว์เลื้อยคลานประเภทจระเข้และแอลลิเกเตอร์ (Crocodilia), และ สัตว์เลื้อยคลานประเภททัวทารา (Rhynchocephalia) สัตว์เลื้อยคลานเป็นสัตว์เลือดเย็นเช่นเดียวกับสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ลำตัวปกคลุมด้วยเกล็ดเพื่อป้องกันการระเหยของน้ำทำให้ให้สามารถดำรงชีวิตในที่แห้งแล้งได้ ใน สัตว์เลื้อยคลานบางชนิด เช่น เต่า และจระเข้ มีแผ่นกระดูกปกคลุมใต้ผิวหนัง ไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างในระหว่างการเจริญเติบโต ตัวอ่อนจึงมีรูปร่างเหมือนกับตัวเต็มวัย มีปอด 2 ข้าง มีระยางค์ 2 คู่ รยางค์ และปอดพัฒนาเมื่อขณะอยู่ในไข่ ในอุทยานเเห่งชาติเขาใหญ่ได้มีการศึกษาวิจัยความหลากหลายของสัตว์เลื้อยคลานในพื้นที่ไว้ สามารถพบได้หลายชนิด เช่น งูทับสมิงคา, ตุ๊กแก, กิ้งก่ารั่ว, งูปล้องฉนวนอินเดีย เป็นต้น

 

ตะกวด (Tree Monitor)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Varanus bengalensis

มีรูปร่างคล้ายเหี้ย (V. salvator) ซึ่งเป็นสัตว์ที่อยู่ในสกุลและวงศ์เดียวกัน โดยมักจำสับสนกับเหี้ยหรือเรียกสลับกัน แต่ตะกวดมีขนาดเล็กกว่าเหี้ยมาก และตำแหน่งของโพรงจมูก โดยโพรงจมูกของตะกวดจะอยู่ไม่ใกล้กับปลายปากเหมือนกับเหี้ย รวมถึงมีปลายปากที่มนทู่กว่า อีกทั้งสีสันของตะกวดจะมีสีน้ำตาลหรือสีดำ ซึ่งแตกต่างจากเหี้ยที่มีสีเหลืองผสมอยู่เป็นลาย อีกทั้งอุปนิสัยมักจะไม่ค่อยอาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำหรือชอบว่ายน้ำหรือหากินในน้ำเหมือนเหี้ย และไม่ดุร้าย ตะกวดมักอาศัยบนต้นไม้ ปีนต้นไม้เก่ง ชอบนอนผึ่งแดดตามกิ่งไม้ แต่หากินตามพื้นดิน มักอาศัยอยู่ตามป่าโปร่งมากกว่าป่าทึบ พบในหุบเขา ออกหากินเวลากลางวัน มักเกาะต้นไม้ตากแดดในยามเช้า และหลบพักในโพรงไม้
 

ตะกอง หรือ ลั้ง หรือ กิ้งก่ายักษ์ (Chinese Water Dragon)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Physignathus cocincinus

เป็นสัตว์เลื้อยคลานประเภทกิ้งก่า ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่พบได้ในประเทศไทย สีลำตัวปกติของตะกองจะมีสีเขียวเข้มและสามารถที่จะเปลี่ยนสีให้เข้มขึ้นหรืออ่อนลงตามสภาพแวดล้อมได้ ในขณะที่เป็นวัยอ่อนบางตัวใต้คางและส่วนหัวจะมีสีม่วงหรือสีฟ้าแลดูสวยงาม และเมื่อโตขึ้นส่วนหัวด้านบนของตัวผู้จะโหนกนูนขึ้นเห็นชัดเจน ส่วนตัวผู้เมียจะมีความนูนน้อยกว่า มีพฤติกรรมชอบนอนผึ่งแดดตามคาคบไม้ริมห้วยลำธาร เมื่อตกใจจะวิ่ง 2 ขาได้โดยหุบขาหน้าไว้แนบชิดลำตัว และโดยปกติเมื่อมีภัยจะกระโจนลงน้ำ และสามารถดำน้ำได้เป็นเวลานาน 
กินแมลง กบ เขียด ปลาขนาดเล็ก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดเล็ก และผลไม้บางชนิดเป็นอาหาร และยังสามารถดำน้ำจับปลาได้อีกด้วย
 

กิ้งก่าเขาเล็ก (Scale-bellied Tree Lizard)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Acanthosaura lepidogaster

เป็นสัตว์เลื้อยคลานประเภทกิ้งก่า รูปร่างลักษณะมีขนาดความยาวหัวถึงปลายหาง 27 เซนติเมตร เขามีลักษณะสั้นกว่าชนิดอื่น มาก หนามขนาดเล็ก สีตัวผู้และตัวเมียต่างกัน โดยตัวผู้จะมีพื้นตัวสีเขียวสด สลับกับลายบั้งหรือจุดสีดำตามตัว คอสีขาว มีปื้นสีดำ บริเวณท้ายทอย และหน้าคลุมเหมือนสวมหน้ากาก ขอบปากมีสีแดงสด ส่วนตัวเมียสีน้ำตาลตุ่น หรือ สีน้ำตาลแดงสด อาศัยตามพื้นป่า ใต้กองใบไม้ หรือ ตามพุ่มไม้ขนาดเล็ก กินแมลงขนาดเล็ก ลูกกิ้งก่า ไส้เดือน

กิ้งก่าเขาหนามยาว (Greater Spiny Lizard)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Acanthosaura armata

เป็นสัตว์เลื้อยคลานประเภทกิ้งก่า มีขนาดความยาวหัวถึงปลายหาง 29 เซนติเมตร ลำตัวสีเขียว น้ำตาล มีลายแต้มสีครีมอมน้ำตาลแดงขนาดใหญ่ เหนือตามีหนามยาวมากข้างละหนึ่งหนาม แผงสันคอและหลังเป็นหนามยาว กินแมลง เช่น ตั๊กแตนตำข้าว ตั๊กแตนหนวดยาว แมลงสาบป่า เป็นอาหาร

กิ้งก่าเขียวใต้ (Gunung Raya Green-crested Lizard)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bronchocela rayaensis

เป็นสัตว์เลื้อยคลานประเภทกิ้งก่า ขนาดความยาวจากปลายปากถึงรูก้น 13 เซนติเมตร หางยาว 45 เซนติเมตร หน้ายาวแหลม วงรอบขอบตาสีเหลือง มีแถบปื้นสีฟ้าตรงโคนปาก แผ่นปิดหูสีเขียว ไม่มีหนามบริเวณหัว มีแผงหนามสั้น ๆ ปลายหนามทู่บริเวณท้ายทอย ในตัวผู้สันหนามสูงกว่าตัวเมีย ลำตัวมีสีเขียวเข้มตลอดทั้งตัวมีจุดสีฟ้าประเป็นลายบั้งตามลำตัว ขายาวเรียว หางมีสีน้ำตาลแดง มีบั้งสีคล้ำตลอดจนถึงหาง เมื่อเวลาตกใจสามารถเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหรือดำได้รวดเร็ว เปลี่ยนสีจากสีเขียวสด เป็นสีน้ำตาลเข้ม เมื่อถูกคุกคาม

งูเหลือม (Reticulated Python)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Python reticulatus

เป็นงูที่มีขนาดใหญ่และยาวที่สุดในโลก มีปากใหญ่ ฟันแหลมคม ขากรรไกร แข็งแรงมาก พื้นตัวสีน้ำตาลแดง มีลายแบ่งเป็นวงมีหลายสี ที่หัวมีเส้นศรสีดำจนเกือบถึงปลายปาก ส่วนท้องสีขาว งูเหลือมกินสัตว์แทบทุกชนิด เช่น เก้ง กวาง กระต่าย หนู ไก่  นก บางครั้งก็จับปลากินด้วย งูเหลือมเป็นงูไม่มีพิษ เลื้อยช้าๆ ดุ ออกหากินกลางคืน หากินทั้งบนบกและในน้ำ อาศัยนอนตามโพรงดินโพรงไม้ในที่มืดและเย็น หลาย ๆ วันจึงจะออกหากินครั้งหนึ่ง 

งูจงอาง (King Cobra)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ophiophagus hannah

เป็นงูพิษที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก หัวกลมทู่ใหญ่ แผ่แม่เบี้ยได้ ไม่มีลายดอกจันอย่างงูเห่า แต่ทำเสียงขู่คล้ายงูเห่า ลำตัวเรียวยาว เป็นงูสีน้ำตาลแดงอมเขียวเป็นส่วนมาก สีอื่นมีบ้าง ท้องของงูจงอางเหลืองเกือบขาว ใต้คอมักมีสีแดงหรือส้ม งูจงอางชอบกินงูเป็น ๆ มาก นอกจากนี้มี หนู กบ ตะกวด เป็นงูที่มีนิสัยดุ ปกติเลื้อยช้า แต่ว่องไวปราดเปรียวเมื่อตกใจ จะชูคอขึ้นสูงแค่เอวประมาณ 1 ใน 3 ของความยาวลำตัว แผ่แม่เบี้ย มักอาศัยอยู่ในป่า เป็นงูที่รู้จักทำรังวางไข่ งูจงอางมีพฤติกรรมการกัดแบบติดแน่น ไม่กัดฉก พิษงูจงอางจะทำลายประสาทอย่างรุนแรงและรวดเร็ว เนื่องจากมีน้ำพิษปริมาณมาก งูจงอางวางไข่ปีละครั้ง ประมาณ 20-40 ฟอง ชอบทำรังในกอไผ่ งูจงอางจะกก และฟักไข่เอง

งูเขียวไผ่หางเขียว (Vogel's Green Pitviper)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Trimeresurus

เป็นงูพิษอ่อนอันตรายอีกชนิดหนึ่ง ที่อยู่ในสกุลงูเขียวหางไหม้และคล้ายคลึงกันมาก แต่มีลักษณะทั่วไปโตเต็มที่จะใหญ่กว่างูเขียวหางไหม้ มีริมปากจนถึงช่วงท้องสีขาว สีเขียวอ่อนกว่า และมีปลายหางสีเขียว ด้วยลักษณะของงูพิษชนิดนี้ หัวจะโตกลมของเล็ก และมีรูรับความร้อน ม่านตาแนวตั้งฉากเช่นเดียวกับแมว และก็มีพิษที่อันตรายต่อระบบเลือด สามารถทำให้เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อตายได้

เต่าใบไม้ (Asian Leaf Turtle)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cyclemys dentata

หัวสีน้ำตาลแดงหรือเขียวมะกอก ด้านบนสุดของหัวมีจุดสีดำ ด้านข้างของหน้ามีแถบสีเหลืองหรือสีชมพู กระดองส่วนล่างสีจาง สีดำหรือสีน้ำตาลเข้มทั้งหมด มีเส้นเป็นแนว รัศมีรอยต่อระหว่างแผ่นเกล็ดต้นขาและแผ่นเกล็ดทวารโค้ง กระดองส่วนล่างมีลักษณะเป็นบานพับ กระดองส่วนบนยาวเต็มที่ประมาณ 22 เซนติเมตร อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำเป็นหลัก บริเวณลำธารในป่าที่ราบต่ำ และเนินเขา กินทั้งพืชและสัตว์ เช่น พืชน้ำ ผลไม้ ปูขนาดเล็ก และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่น ๆ ในน้ำ

เต่าเหลือง (Elongated, Yellow Tortoise)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Indotestudo elongata

กระดองยาวถึง 36 เซนติเมตร กระดองนูนสูง ด้านบนสีเหลือง มีรอยแต้มสีครามอมเทา หัวสีเหลือง มีจุดแต้มเล็กๆ สีน้ำเงิน ถิ่นอาศัย อาศัยในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าไผ่ กินพืชและผลไม้เป็นอาหารหลัก แต่ก็สามารถกินเนื้อ เช่น ซากสัตว์หรือหอยได้ด้วย
 

กบอ่องใหญ่ (Mortensen's Frog)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hylarana mortenseni

เป็นกบขนาดกลาง ความยาวจากหัวถึงก้น 50 – 71 มิลลิเมตร แผ่นปิดหูสีน้ำตาลปรากฏชัดเจน ปลายนิ้วเรียว มือไม่มีพังผืด ส่วนเท้ามีพังผืดเกือบเต็มความยาวนิ้ว หลังสีน้ำตาล สีน้ำตาลเหลือง หรือสีน้ำตาลเทา มีสันบาง ๆ จากปลายจมูกผ่านเหนือตาไปถึงเหนือก้นด้านข้าง มีแถบสีดำขอบจากจมูกพาดตาและแผ่นปิดหูไปตามขอบล่างของสัน ขาหลังมีลายพาดสีเทาเข้ม ท้องสีขาว คอและอกสีน้ำตาล เป็นกบชนิดที่พบบ่อย ส่งเสียงร่อง อ่องๆๆๆ เป็นที่มาของชื่อ พบครั้งแรกที่เกาะช้าง จ.ตราด อาศัยอยู่ตามริมลำธาร แอ่งน้ำขัง ในป่าดิบชื่นที่ราบต่ำ

อึ่งแม่หนาว (Berdmore's Chorus Frog)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Microhyla berdmorei

อึ่งแม่หนาว มีขนาดตัวเล็ก ถึงปานกลาง (จากปลายปากถึงรูก้นประมาณ 30–45 มิลลิเมตร) ลำตัวป้อม หัวหลิม ผิวหนังลำตัวมีตุ่มเล็กและใหญ่กระจายปะปนกัน ผิวหนังบริเวณลำคอเป็นรอยย่น ด้านหลังสีเทาหรือสีน้ำตาลเทา มีลวดลายสีเข้มรูปร่างคล้ายน้ำเต้าอยู่ตรงกลางหลัง คางสีเทา ด้านท้องสีขาวอมเหลือง ตัวผู้มีคางและส่วนต้นของหน้าอกสีดำ ขาหน้า และขาหลังมีลายสีเข้มพาดขวาง บริเวณเหนือช่องเปิดรูก้นมีแต้มสีดำ ขาหน้า และขาหลังเรียวยาว เมื่อพับขาหลังแนบกับลำตัวไปทางด้านหน้าข้อตีนล้ำส่วนปลายของปากไปเล็กน้อย นิ้วตีนหน้ามีแผ่นหนังเล็กมากอยู่ที่โคนนิ้วและแผ่นหนังสีดำ นิ้วตีนหลังมีแผ่นหนังเกือบเต็ม ความยาวของนิ้วส่วนปลายของนิ้วทุกนิ้วขยายออกเป็นตุ่มกลมและมีร่องในแนวยาวทางด้านบนของตุ่ม ลูกอ๊อดมีขนาดตัวเล็กและโปร่งแสง ส่วนหน้าสุดของหัวป้าน ตาอยู่ทางด้านข้างของหัว มีจุดสีดำกระจายทั่วลำตัวแต่หนาแน่นมากบริเวณที่เป็นกล่องสมอง แผ่นครีบหางเรียวและโปร่งแสง ปากอยู่ปลายสุดของหัว ช่องปากเล็ก ไม่มีตุ่มฟันและไม่มีจะงอยปาก อาศัยทั้งในที่โล่งใกล้แหล่งน้ำ พื้นป่า พบชุกชุมในฤดูฝน กระโดดได้ไกล กินแมลง หนอน ไส้เดือนตามพื้นดินเป็นอาหาร

กบหงอน (Capped Frog, Gyldenstolpe's Frog)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Limnonectes gyldenstolpei

มีความยาวถึง 50-60 มิลลิเมตร ตัวผู้ มีหัวใหญ่ ระหว่างตามีติ่งหนังเรียบกลมและยาวเลยตาออกมา ชายขอบด้านข้างและด้านหลังของติ่งนี้ไม่ติดกับหัว ลำตัวสีเขียวมะกอกเข้ม และมีแต้มสีน้ำตาลที่เอวแล้วจางลงมาตามขา ท้องสีเหลืองอ่อน ผสมพันธุ์และวางไข่ในแอ่งน้ำข้างลำห้วย/คลอง เพศผู้มีพฤติกรรมเฝ้าไข่ เมื่อถูกรบกวนมักกระโดดหนีเข้าไปในพุ่มไม้มากกว่าลงน้ำ แต่ถ้ากระโดดลงน้ำ เมื่อลงไปถึงพื้นท้องน้ำจะซุกตัวนิ่งอยู่กับที่ ไม่ว่ายน้ำหนีเป็นระยะทางไกลเหมือนกบชนิดอื่น

go to top