ล่องแก่ง
มาตรฐานระดับความยากง่ายของแก่ง
ระดับ 1 ง่ายมาก
มีแก่งเล็กน้อย สายน้ำไหลเอื่อยๆ คนทั่วไปพายได้
ระดับ 2 ธรรมดา
น้ำไหลแรงขึ้น มีแก่งที่ต้องใช้เทคนิคหรือทักษะพอสมควร
ระดับ 3 ปานกลาง
เริ่มมีแก่งน่าตื่นเต้น เทคนิคการพายสูงขึ้น
ระดับ 4 ยาก
มีแก่งใหญ่ กระแสน้ำไหลแรง ต้องใช้เทคนิคและทักษะในการพาย
ระดับ 5 ยากมาก
น้ำไหลเชี่ยว มีแก่งหินใหญ่และกระแสน้ำลดระดับ ต้องใช้เทคนิคและประสบการณ์การพายสูงและต้องมีความระมัดระวัง
ระดับ 6 อันตราย
มีแก่งขนาดใหญ่ กระแสน้ำรุนแรง ลดระดับเป็นน้ำตก ไม่เหมาะสำหรับการล่องแก่ง
ล่องแก่งหินเพิง (ระดับ 3-5)
นักท่องเที่ยวสามารถทำกิจกรรมล่องแก่งได้ที่บริเวณแก่งหินเพิง ซึ่งตั้งอยู่ที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ขญ. 9 (ไสใหญ่) อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี เป็นแก่งหินตอนปลายสุดของแม่น้ำใสใหญ่ มีต้นกำเนิดจากยอดเขาใหญ่
เริ่มต้นจากน้ำตกวังเหวไหลมาถึงแก่งหินเพิง ระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร บริเวณแก่งหินเพิงมีลักษณะทางธรณีวิทยาเป็นหินทราย เมื่อถึงฤดูฝนกระแสน้ำจะไหลหลากอย่างรุนแรง จนทำให้เกิดเกาะแก่งต่างๆ มากมาย
ช่วงที่ล่องได้อย่างปลอดภัยมีระยะทาง 2.5 กิโลเมตร มี 6 แก่ง คือ แก่งหินเพิง แก่งผักหนามล้อม แก่งวังบอน แก่งลูกเสือ แก่งวังไทร และแก่งหูเห่า การล่องแก่งสายน้ำนี้จุดเด่นอยู่ที่ ตัวแก่งหินเพิงอันเป็นจุดเริ่มตันของการล่องแก่ง
ตัวแก่งหินเพิงมีลักษณะเป็นลานหินหักเห ลื่นลงมาเป็นกระแสน้ำวน และที่เชี่ยวกราก ต้องใช้ความสามารถและทักษะในการพายเรือเป็นอย่างยิ่ง
ในฤดูฝน แก่งหินเพลิงจะสวยงามและเหมาะแก่กิจกรรมล่องแก่งแพยางผ่านแก่งต่างๆ กลางสายน้ำสีขาวที่ไหลเชี่ยวกราก | ในฤดูร้อนและฤดูหนาว (ฤดูน้ำลด) เหมาะแก่การศึกษาสำรวจทางธรณีวิทยา |
ล่องจากแก่งหินเพิงลงมายังหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ขญ.9 จะผ่านแก่งวังบอน แก่งลูกเสือ ไปยังแก่งวังไทร และแก่งงูเห่าเป็นอันดับสุดท้าย รวมระยะทางประมาณ 2 กม. ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง การล่องแก่งต้องอาศัยแพยางที่จุได้ 8-10 คนต่อลำ
แก่งหินเพิงในทางธรณีวิทยา
นอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวผจญภัยทางน้ำแล้ว ในยามที่น้ำลดลงแก่งหินเพิงยังเป็นแหล่งศึกษาทางธรณีได้ด้วย แก่งหินเพิงคือ ประจักษ์พยานแห่งพลังอำนาจของสายน้ำ ซึ่งสามารถตกแต่งหินให้มีลวดลายสวยงาม ทั้งสะพานหินโค้ง บางแห่งเป็นหลุมยุบที่เกิดจากตะกอนกรวดทรายถูกน้ำพัดพาให้ไหลวนกัดก้อนหินแข็งให้กลายเป็นหลุมลึกลงไปเรียกว่า "กุมภลักษณ์" (Pothole)
ช่วงเวลาที่เหมาะแก่การล่องแก่ง
ฤดูฝน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม - เดือนตุลาคม
เพราะกระแสน้ำจะไหลเชี่ยวกราก มีความเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ชอบความท้าทายกับสายน้ำ
การใช้บริการ
ขั้นที่ 1 | ติดต่อผู้ให้บริการล่องแก่ง |
ขั้นที่ 2 | เดินเท้าจากบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่ 9 (ใสใหญ่) ไปยังต้นน้ำ ระยะทางประมาณ 2.5 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 45 นาที |
ขั้นที่ 3 | เริ่มล่องแก่งมายังจุดสุดท้ายบริเวณ ขญ.9 โดยใช้แพยางนั่งได้ประมาณ 8-10 คน ล่องไปตามลำน้ำใสใหญ่ ใช้เวลาล่องแก่งประมาณ 30 นาที |
การเดินทาง
การเดินทางสามารถเข้าได้ 2 เส้นทาง
เส้นทางที่ 1
ใช้เส้นทางสายอำเภอกบินทร์บุรี-จังหวัดนครราชสีมา เส้นทางหลวงหมายเลข 304 จากปากทางกิโลเมตรที่ 11 เข้าไปประมาณ 25 กิโลเมตร
เส้นทางที่ 2
จากกรุงเทพมหานครหมายเลข 33 (สุวรรณศร) เลี้ยวซ้ายเข้าเส้นทางหลวงหมายเลข 2041 เข้าไปประมาณ 25 กิโลเมตร แล้วจอดรถไว้ที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ขญ. 9 (ใสใหญ่) และต้องเดินเท้าเข้าไปอีกระยะทางประมาณ 2.5 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 45 นาที ก็จะถึงแก่งหินเพิง
ข้อพึงปฏิบัติในการล่องแก่ง
1
สวมหมวกนิรภัยและเสื้อชูชีพทุกครั้งที่ลงเรือหรือแพ
2
ตรวจความเรียบร้อยของอุปกรณ์ทุกชนิดก่อนลงเรือ
3
สวมเสื้อผ้าและรองเท้าแบบสบายๆ ไม่หนาและรัดจนเกินไป ควรใช้ผ้าที่แห้งง่าย รองเท้าแตะควรมีสายรัด เพราะต้องเตรียมพร้อมที่จะเปียกน้ำ
4
ควรมีอุปกรณ์ยังชีพในป่า เช่น เชือก ไฟฉาย ติดตัวไว้บ้างเผื่อเกิดเหตุที่คาดไม่ถึง ซึ่งอุปกรณ์ต่างๆ ควรใส่ถุงพลาสติกหรือถุงกันเปียกให้เรียบร้อย
5
ควรฝึกซ้อมทักษะการนั่งและการทรงตัวในเรือ การจับไม้พาย การถ่อเรือ และการพายเรือ
6
สำรวจเส้นทางลำน้ำและกระแสน้ำว่าตำแหน่งใดเป็นช่วงที่ยากหรือง่าย ก่อนที่จะทำการล่องแก่
7
ช่วงลงแก่งอย่ายื่นอวัยวะใดๆ ออกนอกลำเรือ เพราะอาจได้รับอุบัติเหตุได้
8
หากตกจากเรือให้หงายตัวลอย อย่าคว่ำหน้า บังคับให้เท้านำหน้า ให้น้ำพัดไปจนพ้นแก่งแล้วค่อยปีนกลับขึ้นเรือหรือว่ายน้ำเข้าหาฝั่ง
9
ที่สำคัญสุดคือ ปฏิบัติตามระเบียบและคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด